วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

น้ำใจมิตร (มหาอุกกุสชาดก)

สาเหตุที่ตรัสนิทานชาดก เรื่อง น้ำใจมิตร (มหาอุกกุสชาดก)

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ได้ตรัสถึงอุบาสกผู้หนึ่งที่ผูกมิตรได้เก่ง
อุบาสกนั้นเป็นบุตรชายในตระกูลเก่าแก่แห่งพระนครสาวัตถี เมื่อถึงวัยอันควรมีครอบครัว
พ่อแม่ของเขา ได้ส่งพ่อสื่อ ไปขอธิดานางหนึ่ง แต่ธิดานั้นเอ่ยถามพ่อสื่อว่า

"ก็มิตรสหายของผู้จะมาเป็นคู่ครองเรานั้น มีอยู่มากไหมที่จะสามารถแบ่งเบาภารกิจของเขาได้"

พ่อสื่อตอบไปว่า "ยังไม่มี"

"ถ้าเช่นนั้น ขอให้เขาหาสหายผูกมิตรไว้ให้มากก่อนเถิด"

พ่อสื่อจึงนำความนั้นกลับไปแจ้งแก่อุบาสกซึ่งเขาก็ยินดีในคำแนะนำนั้น และเริ่มกระทำความเป็นสหายกับคนเฝ้าประตูเมืองทั้งสี่ก่อน ต่อมาก็สร้างมิตรกับหน่วยคุ้มกันพระนคร ตลอด จนมหาอำมาตย์ เสหาบดี อุปราช กับพระราชาก็กระทำไมตรีไว้ด้วย จากนั้นได้นอบน้อมเข้าหาพระมหาเถระทั้งหลาย แม้กับพระอานนท์ด้วย แล้วจึงต่อไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่สุด
ด้วยศรัทธาและไมตรีนั้นเอง พระศาสดาทรงให้โอวาทเขาจนดำรงอยู่ในสรณะและศีล แม้พระราชาก็โปรด ประทานอิสริยยศแก่เขา จนเขาได้รับการการขนานนามว่า มิตตคันถกะ (ผู้ผูกมิตรไว้แล้ว)

เมื่อเขาผูกมิตรได้มากมาย สมควรแก่เวลาที่จะครองเรือน พระราชาได้ประทานเรือนหลังใหญ่แก่เขา แล้วโปรดให้กระทำ อาวาหมงคล (แต่งงาน) แม้พระราชา ก็มีของขวัญพระราชทานแก่เขา ตลอดจน มิตรสหาย ทั้งพระนคร ก็ส่งข้าวของ ให้เขามากมายยิ่งนัก

หลังจากเสร็จพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ภรรยาของเขาได้นำเอาของขวัญของพระราชามอบให้ แก่อุปราช เอาของขวัญ ของอุปราชมอบแก่เสนาบดี แล้วของขวัญของเสนาบดี ก็มอบต่อไปแก่ผู้อื่น เป็นไปโดยลำดับ เช่นนี้ ทำให้สามารถผูก มิตรกับชาวพระนครเอาไว้ได้ทั่วหน้า

จนกระทั่งในวันที่เจ็ด ทั้งสามีภรรยาได้จัดมหาสักการะ ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระพุทธเจ้า เป็นประธาน เมื่อเสร็จภัตกิจ (การฉันอาหาร)แล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรด คู่สามีภรรยา ทั้งสองฟังธรรมแล้วได้ บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้น

ด้วยเหตุการณ์ดังนี้ เหล่าภิกษุพากันสนทนาในธรรมสภาว่า พอดีพระศาสดาเสด็จมา และตรัสว่า

"ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อุบาสกนี้อาศัยคำของภรรยาแล้วได้ลาภยิ่งใหญ่ แม้ในกาลก่อน เขาก็เคยเกิดเป็นดิรัจฉาน แล้วกระทำไมตรีกับสัตว์อื่นๆตามคำขอของนาง จนพ้นจาก ความทุกข์โศก อันเนื่องเพราะลูกของตนไปได้"
เหล่าภิกษุพากันทูลขอให้พระศาสดาตรัสให้ฟัง จึงทรงนำเอาอดีตนิทานนั้นมาตรัสเล่า
............................

นิทานชาดก เรื่อง น้ำใจมิตร (มหาอุกกุสชาดก)
ในอดีตกาล หากชาวบ้านป่าตามชายแดนล่าสัตว์ได้
เนื้อมากๆ ในที่ใด ก็จะสร้างบ้านเรือนขึ้นในที่นั้น แล้วพากันไปในป่าฆ่าสัตว์ นำเอาเนื้อและหนัง มาเลี้ยงลูกเมียของตน ณ ที่ไม่ไกลจากบ้านแห่งหนึ่งของคนพวกนี้ มีสระใหญ่เกิดเองอยู่แห่งหนึ่ง
ด้านตะวันตกของสระมีพญาเหยี่ยวผู้ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่
ด้านใต้มีนางเหยี่ยวตัวหนึ่งพักอยู่
ด้านตะวันออกมี พญานกออก (เหยี่ยวดำ) อยู่
และด้านเหนือมี พญาราชสีห์ อยู่ในถ้ำ
ส่วนภายในสระใหญ่นั้นมี พญาเต่า ใช้เป็นทำเล หากิน

อยู่มาวันหนึ่ง พญาเหยี่ยวผู้ตัวนั้นได้ไปหานางเหยี่ยว แล้วกล่าวขอกับนางเหยี่ยวว่าให้มาเป็นภรรยาของตน แต่นางเหยี่ยวกลับถามว่า

"ท่านอยากจะมีคู่ครอง ก็แล้วท่านมีเพื่อนฝูงคอยช่วยเหลือเอาไว้บ้างไหมล่ะ"

"ไม่มีเลย"

"อ้าว ! ถ้าเกิดภัยหรือเกิดทุกข์ขึ้นมา เราต้องมีมิตรสหายให้ความช่วยเหลือ จึงจะควร ฉะนั้น ท่านต้องไป แสวงหา และผูกมิตร ให้ได้เสียก่อนเกิด"

"นางเหยี่ยวเอ๋ย ข้าจะไปหามิตรที่ไหนได้เล่า"

"ท่านจงไปทำไมตรีกับพญานกออก ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของสระนี้ ผูกมิตรกับพญาราชสีห์ ที่อยู่ทางทิศเหนือ และเป็น สหายกับพญาเต่า ที่อยู่ในสระให้ได้" พญาเหยี่ยวฟังคำของนางแล้วก็รับคำ และได้ไปกระทำตามนั้น จนสามารถผูกมิตรได้ ทั้งหมด

ในเวลาต่อมา......เหยี่ยวทั้งคู่จึงได้ทำรังร่วมกัน อาศัยอยู่ที่บนต้นกระทุ่ม ซึ่งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง กลางสระนั้น ไม่นานนัก ก็ได้กำเนิดลูกน้อยสองตัว

วันหนึ่ง ขณะที่ลูกน้อยเกิดมาไม่นาน ยังไม่มีขนปีกงอก ได้ปรากฏชาวบ้านป่า พากันตระเวนป่า มาถึง บริเวณสระนั้น พวกเขายังล่าสัตว์อะไรไม่ได้เลย จึงคิดกันว่า

"พวกเราไม่ควรกลับบ้านมือเปล่า อย่างน้อยก็น่าจะจับปลา หรือ เต่าเอากลับไปให้ได้"
ทั้งหมดจึงพากันลงสระน้ำ แล้วไปถึงเกาะกลางสระนั้น ซึ่งตอนนั้น ก็จวนจะใกล้ค่ำพอดี พวกเขา จึงพักนอน อยู่ที่โคน ต้นกระทุ่มนั้น แต่เมื่อถูกยุงรบกวนรุมกัด ก็ช่วยกันก่อกองไฟขึ้น เพื่ออาศัยควันไล่ยุง ควันได้ลอยสูงขึ้น ไปรมรังของเหยี่ยวบนต้นไม้ ลูกนกทั้งสองตกใจกลัว พากันร้องเสียงดังลั่น พวกชาวบ้านป่า ได้ยินเสียงแล้วก็กล่าวว่า

"พวกเราเอ๋ย เสียงลูกนกนี่เร็วเถอะ ช่วยกันมัดคบเพลิงหิวจะตายอยู่แล้ว เดี๋ยวจะได้กินเนื้อนกก่อนนอน กัน"
ส่วนแม่นกได้ยินเสียงคนพวกนั้นคุยกัน จึงรีบเอ่ยปากกับพญาเหยี่ยวว่า

"รีบไปเถอะพี่ ภัยกำลังจะเกิดแก่ลูกเรา จงไปบอกแก่พญานกออกว่า พวกพรานป่า กำลังมัดคบเพลิง บนเกาะนี้ เพื่อ ต้องการจะกินลูกน้อยของเรา "

พ่อเหยี่ยวบินไปสู่ที่อยู่ของพญานกออกทันที ถึงแล้วรีบบอกความทันที

แล้วพญานกออกก็ได้ถามพญาเหยี่ยวว่า "พวกพรานป่านั้นได้ปีนขึ้นสู่ต้นไม้แล้วหรือยังสหาย"

"ตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้น กำลังพากันมัดคบเพลิงอยู่"

"ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกลับไปปลอบนางเหยี่ยวเถิด บอกถึงการมาช่วยเหลือของเราแก่นาง"

พญาเหยี่ยว บินกลับรัง ส่วนพญานกออก บินไปจับอยู่ที่ยอดไม้ต้นหนึ่งใกล้ต้นกระทุ่ม มองดูทางขึ้นสู่รังของ
เหยี่ยว ขณะนั้นเอง... ชาวบ้านป่าคนหนึ่ง กำลังเริ่มปีนขึ้นต้นกระทุ่ม ปีนขึ้นสูงขึ้นๆ พญานกออกเห็นเช่นนั้นแล้ว รีบบินดำลงสู่สระน้ำ อมน้ำไว้ในปาก และทำตัวให้เปียกชุ่ม บินมุ่งสู่คบเพลิง ของชาวบ้านป่านั้น แล้วพ่นน้ำ สลัดน้ำใส่คบเพลิงจนดับ ทำให้ชาวบ้านป่าโกรธจัด แล้วก็ปีนลงมาจุดคบเพลิงให้ลุกอีก จากนั้นจึงปีนขึ้นไปใหม่ แต่พญานกออก ก็เอาน้ำมาดับ คบเพลิงเสียอีก เหตุการณ์นั้นวนเวียนเป็นอยู่เช่นนี้ จนเวลาล่วงเลย ถึงเที่ยงคืน ทำให้พญานกออก เหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก

เมื่อนางเหยี่ยวเห็น สภาพนี้แล้ว อดเป็นห่วงไม่ได้ จึงกล่าวกับพ่อเหยี่ยวว่า
"พี่จ๋า พญานกออกลำบากเหลือเกินแล้ว พี่จงไปบอกพญาเต่า มาช่วยเถิด ให้พญานกออก ได้พักผ่อนบ้าง"

พญาเหยี่ยวจึงบินไปหาพญานกออก และพญาเต่า เพื่อแจ้งเรื่องให้รู้
"ภัยเกิดแก่ลูกน้อยของข้าพเจ้าแล้ว พญานกออกได้กระทำการช่วยเหลือจนต้องเหน็ดเหนื่อยลำบาก ตั้งแต่พลบค่ำจน กระทั่งเที่ยงคืน โดยไม่หยุดหย่อนเลย ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงต้องมาหาท่าน เพราะคนบางพวก ถึงจะพลาดพลั้ง ในงานของตน แต่ก็ยังตั้งตัวได้ ด้วยอาศัยความเอื้อเฟื้อ ของมิตรทั้งหลาย ตอนนี้ ลูกทั้งสอง ของข้าพเจ้า กำลังเดือดร้อน หวังท่านเป็นที่พึ่ง ดูก่อนพญาเต่า ผู้เป็นสหาย ขอท่าน ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ แก่ข้าพเจ้าเถิด"

พญาเต่ารับฟังอย่างตั้งใจ แล้วก็เร่งคลานลงน้ำอย่างรวดเร็ว กวาดเก็บเปือกตมและสาหร่ายมากมาย ขนเอามา จนถึงเกาะนั้น มุ่งตรงไปที่กองไฟทันที แล้วดับกองไฟของพวกพรานป่าด้วยเปือกตม และ สาหร่าย เหล่านั้น พวกชาวบ้านป่า เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วก็ช่วยกันหันมาจับพญาเต่า เอาเถาวัลย์มัดระโยงระยางทั่วตัว แต่ไม่อาจพลิกพญาเต่า ให้หงายท้องได้ มิหนำซ้ำ ยังถูกพญาเต่า ลากพาลงสู่สระน้ำลึกอีก แต่พวกเขา ก็ไม่ยอมปล่อยมือ เพราะความโลภ อยากได้กินเนื้อเต่านั้นเอง จนต้องสำลักน้ำ กินน้ำเข้าไปเต็มท้อง ลำบากไปตามๆ กัน ในที่สุด ก็ต้องยอมปล่อย พญาเต่าไปอย่างจำใจ ว่าย น้ำกลับมาที่เกาะตามเดิม แล้วพากันบ่นว่า

"เหวย......เหวย..ไอ้นกออก มันคอยดับเพลิงของพวกเรา ตั้งครึ่งคืน คราวนี้ก็โดนไอ้เต่ายักษ์ มาดับกองไฟอีก ต้องจมน้ำ กินน้ำจนพุงกาง เฮ้ย! มาก่อไฟกันใหม่เถอะ ต่อให้ถึงเช้ายังไง ก็ต้องกินลูกเหยี่ยวให้ได้"
พวกชาวบ้านป่าช่วยกันก่อกองไฟอีก นางเหยี่ยวได้ยินการพูดคุยนั้นแล้ว ก็กล่าวกับพญาเหยี่ยวว่าให้ไปแจ้งเรื่องกับพญาราชสีห์ พญาเหยี่ยวบินไปยังถ้ำของพญาราชสีห์ทันที เล่าเรื่องให้สหายฟังแต่ต้น แล้วขอร้องกับพญาราชสีห์ให้ช่วยเหลือ

จากนั้นก็ออกจากถ้ำมุ่งหน้าสู่เกาะกลางสระนั้น พอพวกชาวบ้านได้เห็นพญาราชสีห์ กำลังมาแต่ไกลๆ เท่านั้น ก็ตกใจกลัวตายกันใหญ่ เกรงว่า จะถูกพญาราชสีห์ จับกินเสีย จึงพร้อมเพรียงกัน วิ่งหนีกระเจิงไป อย่างรวดเร็ว เมื่อพญาราชสีห์มาถึงโคนต้นกระทุ่มนั้น จึงไม่มีใครเหลืออยู่เลย มีแต่พญานกออก พญาเต่า และ พญาเหยี่ยว ที่พากันเข้ามาหา พญาราชสีห์จึงได้กล่าวถึง ผลบุญผลประโยชน์ของมิตร ก่อนจากไปว่า"ท่านทั้งหลาย จงผูกมิตรเถิด อย่าทำลายมิตรด้วยความประมาทเลย"

หมดภัยแล้ว ต่างก็กลับคืนสู่ที่อยู่ของตน คราวใดที่นางเหยี่ยวได้มองดูลูกน้อยที่ปลอดภัย อยู่ร่วมกัน อย่างมีความสุข ก็จะเจรจากับพญาเหยี่ยวว่า "ไม่ว่าใครก็ควรคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อให้ได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ ด้วยกำลังแห่งมิตร เสมือนเกราะที่ใครสวมใส่แล้ว ย่อมป้องกันลูกศร ทั้งหลายได้"

สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ก็ยังคงเป็น มิตรสหายกัน ไม่ทำลายมิตรธรรมเลย ดำรงอยู่กันไป
จนตลอดอายุขัย................................
พระศาสดาตรัสชาดกนี้จบด้วยการเฉลยว่า"พ่อแม่เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้มาเป็นคู่สามีภรรยาในบัดนี้
ลูกเต่าได้มาเป็นราหุล
พญาเต่า ได้มาเป็น พระมหาโมคคัลลานะ
พญานกออก ได้มาเป็นพระสารีบุตร
ส่วนพญาราชสีห์ ก็คือเราตถาคต"
แล้วทรงสรุปว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อุบาสกนี้อาศัยภรรยาแล้วมีความสุข แม้ในกาลก่อนก็มีความสุข เพราะอาศัยภรรยาแล้วเหมือนกัน"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : มิตรแท้สามารถช่วยเหลือในยามทุกข์ยามลำบากได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น