วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน

๏ แกงไก่มัสมั่นเนื้อ นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน เฉียบร้อน
ชายใดบริโภคภุญช์ พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน อกให้หวนแสวง ๚

๏ มัสมั่นแกงแก้วตา
หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง
แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
๏ ยำใหญ่ใส่สารพัด ว
างจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา
ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ
๏ ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม
เจือน้ำส้มโรยพริกไทย
โอชาจะหาไหน
ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง
๏ หมูแนมแหลมเลิศรส
พร้อมพริกสดใบทองหลาง
พิศห่อเห็นรางชาง
ห่างห่อหวนป่วนใจโหย
๏ ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น
วางถึงลิ้นดิ้นแด
โดยรสทิพย์หยิบมาโปรย
ฤๅจะเปรียบเทียบทันขวัญ
๏ เทโพพื้นเนื้อท้อง
เป็นมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน
ของสวรรค์เสวยรมย์
๏ ความรักยักเปลี่ยนท่า
ทำน้ำยาอย่างแกงขม
กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม
ชมไม่วายคล้ายคล้ายเห็น
๏ ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ
รสพิเศษใส่ลูกเอ็น
ใครหุงปรุงไม่เป็น เ
ช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ
๏ เหลือรู้หมูป่าต้ม
แกงคั่วส้มใส่ระกำ ร
อยแจ้งแห่งความขำ
ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม
๏ ช้าช้าพล่าเนื้อสด
ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม
คิดความยามถนอม
สนิทเนื้อเจือเสาวคนธ์
๏ ล่าเตียงคิดเตียงน้อง
นอนเตียงทองทำเมืองบน
ลดหลั่นชั้นชอบกล
ยลอยากนิทรคิดแนบนอน
๏ เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า
รุ่มรุ่มเร้าคือไฟฟอน
เจ็บไกลในอาวรณ์
ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง
๏ รังนกนึ่งน่าซด
โอชารสกว่าทั้งปวง
นกพรากจากรังรวง
เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน
๏ ไตปลาเสแสร้งว่า
ดุจวาจากระบิดกระบวน
ใบโศกบอกโศกครวญ
ให้พี่เคร่าเจ้าดวงใจ
๏ ผักโฉมชื่อเพราะพร้อง
เป็นโฉมน้องฤๅโฉมไหน
ผักหวานซ่านทรวงใน
ใคร่ครวญรักผักหวานนาง ๚

• เห่ชมผลไม้
๏ ผลชิดแช่อิ่มโอ้ เอมใจ
หอมชื่นกลืนหวานใน อกชู้
รื่นรื่นรสรมย์ใด ฤๅดุจ นี้แม
หวานเลิศเหลือรู้รู้ แต่เนื้อนงพาล ๚

๏ ผลชิดแช่อิ่มอบ
หอมตรลบล้ำเหลือหวาน
รสไหนไม่เปรียบปาน
หวานเหลือแล้วแก้วกลอยใจ
๏ ตาลเฉาะเหมาะใจจริง
รสเย็นยิ่งยิ่งเย็นใจ
คิดความยามพิสมัย
หมายเหมือนจริงยิ่งอยากเห็น
๏ ผลจากเจ้าลอยแก้ว
บอกความแล้วจากจำเป็น
จากช้ำน้ำตากระเด็น
ป็นทุกข์ท่าหน้านวลแตง
๏ หมากปรางนางปอกแล้ว
ใส่โถแก้วแพร้วพรายแสง
ยามชื่นรื่นโรยแรง
ปรางอิ่มอาบซาบนาสา
๏ หวนห่วงม่วงหมอนทอง
อีกอกร่องรสโอชา
คิดความยามนิทรา
อุราแนบแอบอกอร
๏ ลิ้นจี่มีครุ่นครุ่น
เรียกส้มฉุนใช้นามกร
หวนถวิลลิ้นลมงอน
ชะอ้อนถ้อยร้อยกระบวน
๏ พลับจีนจักด้วยมีด
ทำประณีตน้ำตาลกวน
คิดโอษฐ์อ่อนยิ้มยวน
ลยิ่งพลับยับยับพรรณ
๏ น้อยหน่านำเมล็ดออก
ปล้อนเปลือกปอกเป็นอัศจรรย์
มือใครไหนจักทัน
เทียบเทียมที่ฝีมือนาง
๏ ผลเกดพิเศษสด
โอชารสล้ำเลิศปาง
คำนึงถึงเอวบาง
สางเกศเส้นขนเม่นสอย
๏ ทับทิมพริ้มตาตรู
ส่จานดูดุจเม็ดพลอย
สุกแสงแดงจักย้อย
อย่างแหวนก้อยแก้วตาชาย
๏ ทุเรียนเจียนตองปู
เนื้อดีดูเหลือเรืองพราย
เหมือนศรีฉวีกาย
สายสวาทพี่ที่คู่คิด
๏ ลางสาดแสวงเนื้อหอม
ผลงอมงอมรสหวานสนิท
กลืนพลางทางเพ่งพิศ
คิดยามสารทยาตรามา
๏ ผลเงาะไม่งามแงะ
มล่อนเมล็ดและเหลือปัญญา
หวนเห็นเช่นรจนา
จ๋าเจ้าเงาะเพราะเห็นงาม
๏ สละสำแลงผล
คิดลำต้นแน่นหนาหนาม
ท่าทิ่มปิ้มปืนกาม
นามสละมละเมตตา ๚



• เห่ชมเครื่องหวาน
๏ สังขยาหน้าไข่คุ้น เคยมี
แกมกับข้าวเหนียวสี โศกย้อม
เป็นนัยนำวาที สมรแม่ มาแม
แถลงว่าโศกเสมอพ้อม เพียบแอ้อกอร ๚

๏ สังขยาหน้าตั้งไข่
ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง
แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ
๏ ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ
แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ
ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย
๏ ลำเจียกชื่อขนม
นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย
โหยไห้หาบุหงางาม
๏ มัศกอดกอดอย่างไร
น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ
ขนมนามนี้ยังแคลง
๏ ลุดตี่นี้น่าชม
แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง
แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย
๏ ขนมจีบเจ้าจีบห่อ
งามสมส่อประพิมพ์ประพาย
นึกน้องนุ่งจีบกราย
ชายพกจีบกลีบแนบเนียน
๏ รสรักยักลำนำ
ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
คำนึงนิ้วนางเจียน
เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม
๏ ทองหยิบทิพย์เทียมทัด
สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม
ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ
๏ ขนมผิงผิงผ่าวร้อน
เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
ร้อนนักรักแรมไกล
เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง
๏ รังไรโรงด้วยแป้ง
เหมือนนกแกล้วทำรังรวง
โอ้อกนกทั้งปวง
ยังยินดีด้วยมีรัง
๏ ทองหยอดทอดสนิท
ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง
แต่ลำพังสองต่อสอง
๏ งามจริงจ่ามงกุฏ
ใส่ชื่อดุจมงกุฏทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง
สะอิ้งน้องนั้นเคยยล
๏ บัวลอยเล่ห์บัวงาม
คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล
สถนนุชดุจประทุม
๏ ช่อม่วงเหมาะมีรส
หอมปรากฏกลโกสุม
คิดสีสไลคลุม
หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน
๏ ฝอยทองเป็นยองใย
เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์
เย็บชุนใช้ไหมทองจีน ๚

จากหนังสือ : ประชุมกาพย์เห่เรือ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

น้ำใจมิตร (มหาอุกกุสชาดก)

สาเหตุที่ตรัสนิทานชาดก เรื่อง น้ำใจมิตร (มหาอุกกุสชาดก)

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ได้ตรัสถึงอุบาสกผู้หนึ่งที่ผูกมิตรได้เก่ง
อุบาสกนั้นเป็นบุตรชายในตระกูลเก่าแก่แห่งพระนครสาวัตถี เมื่อถึงวัยอันควรมีครอบครัว
พ่อแม่ของเขา ได้ส่งพ่อสื่อ ไปขอธิดานางหนึ่ง แต่ธิดานั้นเอ่ยถามพ่อสื่อว่า

"ก็มิตรสหายของผู้จะมาเป็นคู่ครองเรานั้น มีอยู่มากไหมที่จะสามารถแบ่งเบาภารกิจของเขาได้"

พ่อสื่อตอบไปว่า "ยังไม่มี"

"ถ้าเช่นนั้น ขอให้เขาหาสหายผูกมิตรไว้ให้มากก่อนเถิด"

พ่อสื่อจึงนำความนั้นกลับไปแจ้งแก่อุบาสกซึ่งเขาก็ยินดีในคำแนะนำนั้น และเริ่มกระทำความเป็นสหายกับคนเฝ้าประตูเมืองทั้งสี่ก่อน ต่อมาก็สร้างมิตรกับหน่วยคุ้มกันพระนคร ตลอด จนมหาอำมาตย์ เสหาบดี อุปราช กับพระราชาก็กระทำไมตรีไว้ด้วย จากนั้นได้นอบน้อมเข้าหาพระมหาเถระทั้งหลาย แม้กับพระอานนท์ด้วย แล้วจึงต่อไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่สุด
ด้วยศรัทธาและไมตรีนั้นเอง พระศาสดาทรงให้โอวาทเขาจนดำรงอยู่ในสรณะและศีล แม้พระราชาก็โปรด ประทานอิสริยยศแก่เขา จนเขาได้รับการการขนานนามว่า มิตตคันถกะ (ผู้ผูกมิตรไว้แล้ว)

เมื่อเขาผูกมิตรได้มากมาย สมควรแก่เวลาที่จะครองเรือน พระราชาได้ประทานเรือนหลังใหญ่แก่เขา แล้วโปรดให้กระทำ อาวาหมงคล (แต่งงาน) แม้พระราชา ก็มีของขวัญพระราชทานแก่เขา ตลอดจน มิตรสหาย ทั้งพระนคร ก็ส่งข้าวของ ให้เขามากมายยิ่งนัก

หลังจากเสร็จพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ภรรยาของเขาได้นำเอาของขวัญของพระราชามอบให้ แก่อุปราช เอาของขวัญ ของอุปราชมอบแก่เสนาบดี แล้วของขวัญของเสนาบดี ก็มอบต่อไปแก่ผู้อื่น เป็นไปโดยลำดับ เช่นนี้ ทำให้สามารถผูก มิตรกับชาวพระนครเอาไว้ได้ทั่วหน้า

จนกระทั่งในวันที่เจ็ด ทั้งสามีภรรยาได้จัดมหาสักการะ ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระพุทธเจ้า เป็นประธาน เมื่อเสร็จภัตกิจ (การฉันอาหาร)แล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรด คู่สามีภรรยา ทั้งสองฟังธรรมแล้วได้ บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้น

ด้วยเหตุการณ์ดังนี้ เหล่าภิกษุพากันสนทนาในธรรมสภาว่า พอดีพระศาสดาเสด็จมา และตรัสว่า

"ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อุบาสกนี้อาศัยคำของภรรยาแล้วได้ลาภยิ่งใหญ่ แม้ในกาลก่อน เขาก็เคยเกิดเป็นดิรัจฉาน แล้วกระทำไมตรีกับสัตว์อื่นๆตามคำขอของนาง จนพ้นจาก ความทุกข์โศก อันเนื่องเพราะลูกของตนไปได้"
เหล่าภิกษุพากันทูลขอให้พระศาสดาตรัสให้ฟัง จึงทรงนำเอาอดีตนิทานนั้นมาตรัสเล่า
............................

นิทานชาดก เรื่อง น้ำใจมิตร (มหาอุกกุสชาดก)
ในอดีตกาล หากชาวบ้านป่าตามชายแดนล่าสัตว์ได้
เนื้อมากๆ ในที่ใด ก็จะสร้างบ้านเรือนขึ้นในที่นั้น แล้วพากันไปในป่าฆ่าสัตว์ นำเอาเนื้อและหนัง มาเลี้ยงลูกเมียของตน ณ ที่ไม่ไกลจากบ้านแห่งหนึ่งของคนพวกนี้ มีสระใหญ่เกิดเองอยู่แห่งหนึ่ง
ด้านตะวันตกของสระมีพญาเหยี่ยวผู้ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่
ด้านใต้มีนางเหยี่ยวตัวหนึ่งพักอยู่
ด้านตะวันออกมี พญานกออก (เหยี่ยวดำ) อยู่
และด้านเหนือมี พญาราชสีห์ อยู่ในถ้ำ
ส่วนภายในสระใหญ่นั้นมี พญาเต่า ใช้เป็นทำเล หากิน

อยู่มาวันหนึ่ง พญาเหยี่ยวผู้ตัวนั้นได้ไปหานางเหยี่ยว แล้วกล่าวขอกับนางเหยี่ยวว่าให้มาเป็นภรรยาของตน แต่นางเหยี่ยวกลับถามว่า

"ท่านอยากจะมีคู่ครอง ก็แล้วท่านมีเพื่อนฝูงคอยช่วยเหลือเอาไว้บ้างไหมล่ะ"

"ไม่มีเลย"

"อ้าว ! ถ้าเกิดภัยหรือเกิดทุกข์ขึ้นมา เราต้องมีมิตรสหายให้ความช่วยเหลือ จึงจะควร ฉะนั้น ท่านต้องไป แสวงหา และผูกมิตร ให้ได้เสียก่อนเกิด"

"นางเหยี่ยวเอ๋ย ข้าจะไปหามิตรที่ไหนได้เล่า"

"ท่านจงไปทำไมตรีกับพญานกออก ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของสระนี้ ผูกมิตรกับพญาราชสีห์ ที่อยู่ทางทิศเหนือ และเป็น สหายกับพญาเต่า ที่อยู่ในสระให้ได้" พญาเหยี่ยวฟังคำของนางแล้วก็รับคำ และได้ไปกระทำตามนั้น จนสามารถผูกมิตรได้ ทั้งหมด

ในเวลาต่อมา......เหยี่ยวทั้งคู่จึงได้ทำรังร่วมกัน อาศัยอยู่ที่บนต้นกระทุ่ม ซึ่งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง กลางสระนั้น ไม่นานนัก ก็ได้กำเนิดลูกน้อยสองตัว

วันหนึ่ง ขณะที่ลูกน้อยเกิดมาไม่นาน ยังไม่มีขนปีกงอก ได้ปรากฏชาวบ้านป่า พากันตระเวนป่า มาถึง บริเวณสระนั้น พวกเขายังล่าสัตว์อะไรไม่ได้เลย จึงคิดกันว่า

"พวกเราไม่ควรกลับบ้านมือเปล่า อย่างน้อยก็น่าจะจับปลา หรือ เต่าเอากลับไปให้ได้"
ทั้งหมดจึงพากันลงสระน้ำ แล้วไปถึงเกาะกลางสระนั้น ซึ่งตอนนั้น ก็จวนจะใกล้ค่ำพอดี พวกเขา จึงพักนอน อยู่ที่โคน ต้นกระทุ่มนั้น แต่เมื่อถูกยุงรบกวนรุมกัด ก็ช่วยกันก่อกองไฟขึ้น เพื่ออาศัยควันไล่ยุง ควันได้ลอยสูงขึ้น ไปรมรังของเหยี่ยวบนต้นไม้ ลูกนกทั้งสองตกใจกลัว พากันร้องเสียงดังลั่น พวกชาวบ้านป่า ได้ยินเสียงแล้วก็กล่าวว่า

"พวกเราเอ๋ย เสียงลูกนกนี่เร็วเถอะ ช่วยกันมัดคบเพลิงหิวจะตายอยู่แล้ว เดี๋ยวจะได้กินเนื้อนกก่อนนอน กัน"
ส่วนแม่นกได้ยินเสียงคนพวกนั้นคุยกัน จึงรีบเอ่ยปากกับพญาเหยี่ยวว่า

"รีบไปเถอะพี่ ภัยกำลังจะเกิดแก่ลูกเรา จงไปบอกแก่พญานกออกว่า พวกพรานป่า กำลังมัดคบเพลิง บนเกาะนี้ เพื่อ ต้องการจะกินลูกน้อยของเรา "

พ่อเหยี่ยวบินไปสู่ที่อยู่ของพญานกออกทันที ถึงแล้วรีบบอกความทันที

แล้วพญานกออกก็ได้ถามพญาเหยี่ยวว่า "พวกพรานป่านั้นได้ปีนขึ้นสู่ต้นไม้แล้วหรือยังสหาย"

"ตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้น กำลังพากันมัดคบเพลิงอยู่"

"ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกลับไปปลอบนางเหยี่ยวเถิด บอกถึงการมาช่วยเหลือของเราแก่นาง"

พญาเหยี่ยว บินกลับรัง ส่วนพญานกออก บินไปจับอยู่ที่ยอดไม้ต้นหนึ่งใกล้ต้นกระทุ่ม มองดูทางขึ้นสู่รังของ
เหยี่ยว ขณะนั้นเอง... ชาวบ้านป่าคนหนึ่ง กำลังเริ่มปีนขึ้นต้นกระทุ่ม ปีนขึ้นสูงขึ้นๆ พญานกออกเห็นเช่นนั้นแล้ว รีบบินดำลงสู่สระน้ำ อมน้ำไว้ในปาก และทำตัวให้เปียกชุ่ม บินมุ่งสู่คบเพลิง ของชาวบ้านป่านั้น แล้วพ่นน้ำ สลัดน้ำใส่คบเพลิงจนดับ ทำให้ชาวบ้านป่าโกรธจัด แล้วก็ปีนลงมาจุดคบเพลิงให้ลุกอีก จากนั้นจึงปีนขึ้นไปใหม่ แต่พญานกออก ก็เอาน้ำมาดับ คบเพลิงเสียอีก เหตุการณ์นั้นวนเวียนเป็นอยู่เช่นนี้ จนเวลาล่วงเลย ถึงเที่ยงคืน ทำให้พญานกออก เหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก

เมื่อนางเหยี่ยวเห็น สภาพนี้แล้ว อดเป็นห่วงไม่ได้ จึงกล่าวกับพ่อเหยี่ยวว่า
"พี่จ๋า พญานกออกลำบากเหลือเกินแล้ว พี่จงไปบอกพญาเต่า มาช่วยเถิด ให้พญานกออก ได้พักผ่อนบ้าง"

พญาเหยี่ยวจึงบินไปหาพญานกออก และพญาเต่า เพื่อแจ้งเรื่องให้รู้
"ภัยเกิดแก่ลูกน้อยของข้าพเจ้าแล้ว พญานกออกได้กระทำการช่วยเหลือจนต้องเหน็ดเหนื่อยลำบาก ตั้งแต่พลบค่ำจน กระทั่งเที่ยงคืน โดยไม่หยุดหย่อนเลย ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงต้องมาหาท่าน เพราะคนบางพวก ถึงจะพลาดพลั้ง ในงานของตน แต่ก็ยังตั้งตัวได้ ด้วยอาศัยความเอื้อเฟื้อ ของมิตรทั้งหลาย ตอนนี้ ลูกทั้งสอง ของข้าพเจ้า กำลังเดือดร้อน หวังท่านเป็นที่พึ่ง ดูก่อนพญาเต่า ผู้เป็นสหาย ขอท่าน ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ แก่ข้าพเจ้าเถิด"

พญาเต่ารับฟังอย่างตั้งใจ แล้วก็เร่งคลานลงน้ำอย่างรวดเร็ว กวาดเก็บเปือกตมและสาหร่ายมากมาย ขนเอามา จนถึงเกาะนั้น มุ่งตรงไปที่กองไฟทันที แล้วดับกองไฟของพวกพรานป่าด้วยเปือกตม และ สาหร่าย เหล่านั้น พวกชาวบ้านป่า เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วก็ช่วยกันหันมาจับพญาเต่า เอาเถาวัลย์มัดระโยงระยางทั่วตัว แต่ไม่อาจพลิกพญาเต่า ให้หงายท้องได้ มิหนำซ้ำ ยังถูกพญาเต่า ลากพาลงสู่สระน้ำลึกอีก แต่พวกเขา ก็ไม่ยอมปล่อยมือ เพราะความโลภ อยากได้กินเนื้อเต่านั้นเอง จนต้องสำลักน้ำ กินน้ำเข้าไปเต็มท้อง ลำบากไปตามๆ กัน ในที่สุด ก็ต้องยอมปล่อย พญาเต่าไปอย่างจำใจ ว่าย น้ำกลับมาที่เกาะตามเดิม แล้วพากันบ่นว่า

"เหวย......เหวย..ไอ้นกออก มันคอยดับเพลิงของพวกเรา ตั้งครึ่งคืน คราวนี้ก็โดนไอ้เต่ายักษ์ มาดับกองไฟอีก ต้องจมน้ำ กินน้ำจนพุงกาง เฮ้ย! มาก่อไฟกันใหม่เถอะ ต่อให้ถึงเช้ายังไง ก็ต้องกินลูกเหยี่ยวให้ได้"
พวกชาวบ้านป่าช่วยกันก่อกองไฟอีก นางเหยี่ยวได้ยินการพูดคุยนั้นแล้ว ก็กล่าวกับพญาเหยี่ยวว่าให้ไปแจ้งเรื่องกับพญาราชสีห์ พญาเหยี่ยวบินไปยังถ้ำของพญาราชสีห์ทันที เล่าเรื่องให้สหายฟังแต่ต้น แล้วขอร้องกับพญาราชสีห์ให้ช่วยเหลือ

จากนั้นก็ออกจากถ้ำมุ่งหน้าสู่เกาะกลางสระนั้น พอพวกชาวบ้านได้เห็นพญาราชสีห์ กำลังมาแต่ไกลๆ เท่านั้น ก็ตกใจกลัวตายกันใหญ่ เกรงว่า จะถูกพญาราชสีห์ จับกินเสีย จึงพร้อมเพรียงกัน วิ่งหนีกระเจิงไป อย่างรวดเร็ว เมื่อพญาราชสีห์มาถึงโคนต้นกระทุ่มนั้น จึงไม่มีใครเหลืออยู่เลย มีแต่พญานกออก พญาเต่า และ พญาเหยี่ยว ที่พากันเข้ามาหา พญาราชสีห์จึงได้กล่าวถึง ผลบุญผลประโยชน์ของมิตร ก่อนจากไปว่า"ท่านทั้งหลาย จงผูกมิตรเถิด อย่าทำลายมิตรด้วยความประมาทเลย"

หมดภัยแล้ว ต่างก็กลับคืนสู่ที่อยู่ของตน คราวใดที่นางเหยี่ยวได้มองดูลูกน้อยที่ปลอดภัย อยู่ร่วมกัน อย่างมีความสุข ก็จะเจรจากับพญาเหยี่ยวว่า "ไม่ว่าใครก็ควรคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อให้ได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ ด้วยกำลังแห่งมิตร เสมือนเกราะที่ใครสวมใส่แล้ว ย่อมป้องกันลูกศร ทั้งหลายได้"

สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ก็ยังคงเป็น มิตรสหายกัน ไม่ทำลายมิตรธรรมเลย ดำรงอยู่กันไป
จนตลอดอายุขัย................................
พระศาสดาตรัสชาดกนี้จบด้วยการเฉลยว่า"พ่อแม่เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้มาเป็นคู่สามีภรรยาในบัดนี้
ลูกเต่าได้มาเป็นราหุล
พญาเต่า ได้มาเป็น พระมหาโมคคัลลานะ
พญานกออก ได้มาเป็นพระสารีบุตร
ส่วนพญาราชสีห์ ก็คือเราตถาคต"
แล้วทรงสรุปว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อุบาสกนี้อาศัยภรรยาแล้วมีความสุข แม้ในกาลก่อนก็มีความสุข เพราะอาศัยภรรยาแล้วเหมือนกัน"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : มิตรแท้สามารถช่วยเหลือในยามทุกข์ยามลำบากได้

นิทานชาดก เรื่อง กูฏิทูสกชาดก (ว่าด้วยลิงกับนกขมิ้น)

นิทานชาดก เรื่อง กูฏิทูสกชาดก (ว่าด้วยลิงกับนกขมิ้น)

ณ นครราชคฤห์ในแคว้นมคธ พระมหากัสสปเถระพำนักอยู่ที่อรัญญกุฎี(ที่พักอาศัยของภิกษุในป่า) โดยมี ภิกษุหนุ่ม ๒ รูปเป็นลูกศิษย์คอยดูแลรับใช้ประจำ ภิกษุรูปหนึ่งขยันมีอุปการะดีแก่พระเถระ แต่อีกรูปหนึ่ง กลับเกียจคร้าน ว่ายากสอนยาก

คราวใดที่ภิกษุขยันตื่นแต่เช้าตรู่ ทำกิจวัตรปัดกวาดเช็ดถู เตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้แล้ว ภิกษุเกียจคร้าน จะฉวยโอกาส รีบไปหาพระเถระผู้เป็นอาจารย์ทันที แล้วกล่าวว่า "ท่านอาจารย์ครับ ผมได้ตระเตรียมน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว ขอท่านอาจารย์โปรดใช้ล้างหน้าด้วยเถิด"
ภิกษุเกียจคร้านทำเสมือนตนได้ปัดกวาดเตรียมน้ำไว้เอง กระทำเอาหน้ากับอาจารย์เช่นนี้เสมอๆ แม้ถูก เพื่อนภิกษุตักเตือน ก็ยังดื้อรั้นที่จะเกียจคร้านอยู่ดังเดิม เอาแต่ฉันอาหารแล้วก็ไปนอน ภิกษุขยัน จึงบังเกิด ความคิดขึ้นว่าจะต้องทำการเปิดเผยพฤติกรรมของพระหัวดื้อนี้ ให้ปรากฏแก่สายตาของอาจารย์

วันรุ่งขึ้น ภิกษุขยันตื่นมาแต่เช้ามืด ทำกิจวัตรทุกสิ่งแล้ว ก็ต้มน้ำสำหรับอาบ เตรียมไว้ให้อาจารย์ พอภิกษุ หัวดื้อ ตื่นนอนแล้ว เห็นน้ำต้มไว้เรียบร้อย จึงรีบไปหาอาจารย์ตามเคย
แต่พอมาถึงกลับไม่มีน้ำต้มไว้เลย ภิกษุหัวดื้อทั้งงุนงงทั้งตกใจ รีบไปยังโรงไฟ (โรงอบสมุนไพรรักษาโรค) เพื่อหาน้ำมาต้ม แต่พอหย่อน กระบวยตักน้ำ ลงไปในโอ่ง ก็ได้ยินแต่เสียงกระบวยกระทบโอ่ง ที่ว่างเปล่า

ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุหัวดื้อนั้น จึงถูกเรียกชื่อว่า อุฬุงกสัททกะ (เสียงกระบวยเปล่า)
ฝ่ายภิกษุขยันได้นำน้ำที่ต้ม ซึ่งเอาไปแอบซ่อนไว้ ออกมาให้อาจารย์ได้อาบ แล้วเล่าความจริงต่างๆ ให้ฟัง อาจารย์ จึงได้รู้ว่า ภิกษุอุฬุงกสัททกะ เป็นคนหัวดื้อ ว่ายากสอนยาก

เย็นวันนั้นเอง เมื่อภิกษุเกียจคร้านได้มาหาพระมหากัสสปเถระ จึงถูกอบรมสั่งสอน ภิกษุอุฬุงกสัททกะฟังคำสอนของอาจารย์แล้ว ก็ไม่ชอบใจ โกรธแค้นอาจารย์ พอถึงเช้าวันใหม่... จึงไม่ยอมไปบิณฑบาตกับอาจารย์หรือกับภิกษุรูปอื่นๆ แต่มุ่งไปยังตระกูลอุปัฏฐาก (ตระกูลที่ช่วย อุปถัมภ์อยู่) ของพระมหากัสสปเถระ แล้วกล่าวอ้างว่าอาจารย์ไม่ค่อยสบาย จึงขออาหารอันประณีตเพื่อจะนำไปให้อาจารย์ ภิกษุหัวดื้อจึงได้อาหารอันประณีตมากมาย แล้วถือเอาไปหาสถานที่เหมาะ นั่งขบฉัน อาหาร ตามชอบใจของตน จากนั้นจึงค่อยกลับคืนสู่วิหาร

เช้าวันถัดมา...พระมหากัสสปเถระได้ไปฉันอาหารที่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น พวกเขาพากันถามไถ่ พระเถระได้แต่นิ่งเฉย มิยอมตอบในเรื่องนั้น เมื่อฉันอาหารเสร็จ จึงกลับไปยังวิหาร เรียกหา ภิกษุ อุฬุงกสัททกะ ให้มาพบ เมื่อสอบถามชัดเจนแล้ว จึงกล่าวตักเตือนสั่งสอน

ยิ่งถูกตำหนิติเตียน แทนที่จะสำนึกผิด ภิกษุอุฬุงกสัททกะยิ่งแค้นอาฆาตกว่าเดิม บังเกิดความคิดชั่วร้าย ในรุ่งเช้าของวันใหม่ เมื่อพระมหากัสสปเถระกับภิกษุทั้งหลายออกไปบิณฑบาตแล้ว ภิกษุหัวดื้อ ก็ฉวยโอกาส ที่ปลอดคน จึงถือไม้ฆ้อนมาทุบภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ แตกทำลายสิ้น แล้วยังจุดไฟเผากุฎี ที่พัก ของอาจารย์ วอดวายหมด จากนั้นจึงหลบหนีไป

ด้วยผลแห่งการกระทำบาปกรรมนั้นเอง นับแต่นั้นมา ภิกษุอุฬุงกสัททกะ ก็มีชีวิตอยู่อย่างอัตคัดขาดแคลน ต้องอดอยาก ลำบากจนผอมโซ กายสกปรกเน่าเหม็น ราวกับเปรตเดินดิน ทรมานอยู่เช่นนั้น กระทั่ง ถึงแก่ความตาย แล้วยังต้องไปใช้หนี้กรรมในอเวจีมหานรกอีก เรื่องราวของภิกษุอุฬุงกสัททกะ จึงโจษจัน กันไปทั่วนครราชคฤห์

ครั้นพวกภิกษุจำนวนหนึ่งจากนครราชคฤห์ เดินทางไปเข้าเฝ้าพระศาสดายังนครสาวัตถี พระศาสดาทรงสดับเรื่องราวของภิกษุอุฬุงกสัททกะ อย่างนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
ภิกษุดื้อรั้นว่ายากสอนยากนี้ก็เป็นคนพาล โกรธเคืองคำสั่งสอนของอาจารย์ ทำลายที่พักของอาจารย์ มิใช่ ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยพาลโกรธเคืองทำลายที่พักอาศัยของผู้อื่นมาแล้ว เหล่าภิกษุได้ยินดังนั้น จึงทูลขอให้เล่าเรื่องราว พระศาสดาก็ทรงแสดงชาดกนั้น

ในอดีตกาล ณ ป่าหิมพานต์ มีนกขมิ้นหนุ่มตัวหนึ่ง อาศัยอยู่โดดเดี่ยวลำพัง ทำรังเป็นที่พักเอาไว้ อย่างประณีต มั่นคงแข็งแรง แม้แต่ฝนตกลงมาก็มิอาจรั่วรดได้

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ฝนกำลังตกหนักไม่ขาดเม็ด เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ปรากฏในที่ใกล้ๆ รังของ นกขมิ้นนั้น มีลิงตัวหนึ่งนั่งเปียกปอนอยู่ที่คาคบไม้ กัดฟันแน่นสู้กับความหนาวเย็น นกขมิ้นเห็นลิง ต้องลำบาก ทรมานอย่างนั้น จึงอดไม่ได้ที่จะถามไถ่ออกไปว่า
"วานรเอ๋ย หัวของเจ้า มือเท้าของเจ้าก็มีเหมือนพวกมนุษย์ ก็แล้วทำไมเล่า เจ้าจึงไม่มีที่อยู่อาศัย อย่างมนุษย์บ้าง"
ลิงเหลียวดูนกขมิ้นที่อยู่ในรังสุขสบาย มีที่กำบังฝนอย่างดีอบอุ่น แล้วก็ตอบไปว่า"เจ้านกขมิ้น แม้หัวของเรา มือเท้าของเราจะเหมือนพวกมนุษย์ก็จริง แต่ปัญญาที่พวกบัณฑิตบอกว่า เป็นสิ่งประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์นั้น เราไม่มี เราจึงสร้างบ้านไม่เป็น แต่ถึงกระนั้น เราก็มีนิสัย ชอบอยู่ของเรา อย่างนี้แหละ เจ้าจะทำไม"
นกขมิ้นฟังลิงแสดงนิสัยของตนเองแล้ว ด้วยความหวังดี จึงกล่าวเตือนสติออกไปว่า"นิสัยวานรนั้น มีใจไม่นิ่ง มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร มีปกติอยู่ได้ไม่ยั่งยืน ยิ่งไร้ที่พักอาศัย ย่อมมีสุขภาพไม่ดี เจ้าจงสร้างอานุภาพ ให้เกิดขึ้นแก่ตน เปลี่ยนปกตินิสัยไม่ดีของเดิมไปเสีย แล้วจงสร้าง ที่อยู่อาศัย เอาไว้ป้องกันลมฝน และความหนาวเถิด" ฟังแล้วรู้สึกว่าโดนสั่งสอน ลิงจึงโกรธไม่พอใจ บังเกิดความถือตัวว่า"เจ้านกขมิ้นตัวนี้ด่าว่าเรา ดูหมิ่นเหยียดหยามเรา เพราะมีรังอยู่สุขสบายฝนไม่รั่วรด ฉะนั้น เราจะจัดการ มันเสีย"

คิดแล้วก็กระโจนใส่รังนกขมิ้นทันที หมายจับตัวนกขมิ้นเอาไว้ แต่ก็ยังช้าไป เพราะนกขมิ้นเห็นท่าทาง ของลิงแล้ว ก็ไม่ไว้วางใจ บินหนีไปก่อนอย่างรวดเร็ว
ด้วยความโกรธแค้น ลิงจึงทุบตีทำลายรังนกขมิ้นจนพินาศสิ้น ระบายโทสะจนสมใจ แล้วคอยจากที่นั้นไป พร้อมกับ หนี้กรรมที่ได้สั่งสมไว้แล้ว. . . . . . . . . . . . . . . . .
ครั้นพระศาสดาทรงเล่าเรื่องจบแล้ว ได้ตรัสว่า"ลิงในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้เผากุฎีในบัดนี้ ส่วนนกขมิ้นในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตในบัดนี้" (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๘๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๕๒๒)

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์







พืช สัตว์ มนุษย์ จะมีโครงสร้างพื้นฐานเล็ก ๆ เพื่อจะก่อให้เกิดลักษณะของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด โดยโครงสร้างเล็กๆ นั้นจะมารวมกันมีกิจกรรมต่างๆร่วมกันจนก่อให้เกิดลักษระของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โครงสร้างที่กล่าวถึงนี้จัดว่ามีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งเราเรียกว่า เซลล์ (cell) เซลล์เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต เซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีรูปร่างลักษณะขอบเขต และโครงสร้างของเซลล์ ซึ่งโครงสร้างบางส่วน จะสามารถระบุได้ว่าเซลล์นั้นเป็นลักษณะของสิ่งมีชีวิตชนิดใด










ส่วนประกอบของเซลล์พืช
1.ผนังเซลล์(Cell wall)เป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของเซลล์พืช ประกอบด้วยสสารพวกเซลลูโลสทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์พืช 2.เยื่อหุ้มเซลล์ (cell Membrane) เป็นเยื่อบาง ๆ ทำหน้าที่ควบคุมการผ่านเข้าออกของสาร เช่น น้ำ อากาศ และสารละลายต่าง ๆระหว่างภายนอกเซลล์กับภายในเซลล์ 3.ไซโทรพลาสซึม (Cytoplasm) เป็นของเหลวภายในเซลล์ที่ไหลไปมาาได้ มีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ปนอยู่เช่น ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเซลล์ อาหารก๊าซ และของเสียต่างๆ
โดยทั่วไป เซลล์สัตว์จะมีรูปร่าง ลักษณะแตกต่างไปตามชนิดของอวัยวะ แต่จะมีลักษระร่วมกันดังนี้ เยื่อหุ้มเซลล์ ไซโทพลาสซึม นิวเคลียส ในเซลล์สัตว์จะไม่พบผนังเซลล์และคลอโรพลาสต์













พืช สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต่างประกอบไปด้วยเซลล์หลาย ๆ เซลล์ที่มารวมกัน และทำหน้าที่ร่วมกัน กล่าวคือ การรวมกันของเซลล์ก่อให้เกิดเนื้อเยื่อ หลายเนื้อเยื่อรวมกันก่อให้เกิดอวัยวะ หลายอวัยวะรวมกันก่อให้เกิดระบบอวัยวะและร่างกายของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด
สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้เรียกว่า สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ เช่น พืชสัตว์ มนุษย์ แต่สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่มีเพียงเซลล์เดียวแล้วสามารถดำรงชีวิต มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกินอาหาร สืบพันธุ์ ขับถ่ายและเคลื่อนที่ได้ เรียกสิ่งมีชีวีตชนิดนี้ว่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่นแบคทีเรีย อะมีบา พารามีเซียม
จากความรู้ที่นักเรียนได้เรียนผ่านมาแล้วนั้น สามารถสรุปได้ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบไปด้วยเซลล์ โดยมีทั้งสิ่งมีชีวิตเซลลืเดียวและสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ จนทำให้เกิดลักษณะรูปร่างของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เช่น พืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต คือ อาหาร เซลล์ก็เช่นเดียวกัน เซลล์ก็มีชีวิต อาหารของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็ต้องเป็นอาหารของเซลล์ด้วย แต่เนื่องจากเซลล์มีขนาดเล็ก



ส่วนประกอบของพืช

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หลักการแต่งนิทาน

การเขียนนิทาน เป็นเรื่องของจินตนาการ ผู้เขียนจะต้องมีศิลปะในการเขียนเพื่อให้ความสนุกสนาน ปลูกฝังคุณธรรม คติแง่คิดมุมมองต่างๆแก่ผู้อ่าน..


องค์ประกอบของนิทาน

1. แนวคิด:แก่นสารหรือสาระที่จุดประกายให้เกิดเรื่องราว
เช่น แม่กระต่ายผู้รักลูกสุดหัวใจยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อแลกกับลูก
หรือ ลูกสี่คนคิดปลูกฟักทองยักษ์ให้แม่หรือ ลูกไก่ 7 ตัวที่ยอมตายตามแม่
หรือ โจรใจร้ายชอบทำร้ายผู้หญิงวันหนึ่งกลับทำร้ายแม่ตัวเองโดยไม่ตั้งใจ
หรือ ลูกหมูสามตัวไม่เชื่อแม่ทำให้เป็นเหยื่อของหมาป่า

2. โครงเรื่องของนิทาน: โครงเรื่องและเนื้อหาต้องไม่ซับซ้อน สั้นๆ กะทัดรัด
เป็นลักษณะเรื่องเล่าธรรมดา มีการลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง


3. ตัวละคร: ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้เขียน เช่น คน สัตว์ เทพเจ้า แม่มด เจ้าชาย นางฟ้า..
**แต่ไม่ควรมีตัวละครมากเกินไป


4. ฉาก: สถานที่เกิดเหตุ..ในป่า กระท่อมร้าง ปราสาท บนสวรรค์ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน


5. บทสนทนา: การพูดคุยของตัวละคร ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ สนุกสนาน
**ไม่ใช้คำหยาบ

6. คติสอนใจ: เมื่อจบนิทาน ผู้อ่านควรได้แง่คิด คติสอนใจเพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมกล่อมเกลาจิตใจ

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พรรณไม้ในป่าชายเลน






พรรณไม้ในป่าชายเลน
พรรณไม้ในป่าชายเลนมีลักษณะพิเศษหลายประการ
เนื่องจากต้อง “ปรับตัว”
ตั้งแต่โครงสร้างภายในราก ลำต้น ใบ ดอก จนถึงผล

เพื่อให้สามารถอยู่ในสภาพดินเค็ม และแช่ขังอยู่ในน้ำทะเลเป็นเวลานานได้







คุณลักษณะพิเศษของพรรณไม้ป่าชายเลน




ใบ
มักจะมี “ต่อมน้ำเกลือ(salt gland)”
อยู่บริเวณ “ใบ”
ทำหน้าที่ควบคุมระดับความเข้มข้นของเกลือ
ไม่ให้มีเกลือมากเกินไป ที่พบเห็นได้ง่าย ๆ
ได้แก่ ต้นแสม ลำพู ลำแพน
เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
ซึ่งมีลักษณะหนา อวบน้ำ แผ่นเป็นมัน




ราก



รากของพืชชายเลนจะมีการกรับตัวให้มีสภาพ
“ทนแรงคลื่น แรงลม และยึดความเหลวของดินเลนได้ดี”
บางชนิดมากชอนไชแผ่ไปได้กว้าง
บางชนิดมีรากโผล่ขึ้นพ้นผิวดิน
บางชนิดใช้รากเป็นแหล่งอาหาร
บางชนิดมีรากอากาศ













ผล



พรรณไม้ชายเลนบางชนิดได้วิวัฒนาการให้ผลมีลักษณะเป็นฝัก
ซึ่งสามารถงอกได้เองตั้งแต่อยู่บนต้นแม่
และให้ฝักมีรูปร่างแหลม
เพื่อให้เหมาะกับการปักลงดินได้ง่าย
เช่น ฝักโกงกาง แสม โปรง เป็นต้น






ต้นอ่อน




จะมีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถลอยน้ำได้
แต่เมื่ออุ้มน้ำจะจมน้ำ และเกาะติดผิวดิน
ทำให้กระจายพันธุ์ไปในที่ต่าง ๆ ได้รวดเร็ว