วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นิทานชาดก เรื่อง กูฏิทูสกชาดก (ว่าด้วยลิงกับนกขมิ้น)

นิทานชาดก เรื่อง กูฏิทูสกชาดก (ว่าด้วยลิงกับนกขมิ้น)

ณ นครราชคฤห์ในแคว้นมคธ พระมหากัสสปเถระพำนักอยู่ที่อรัญญกุฎี(ที่พักอาศัยของภิกษุในป่า) โดยมี ภิกษุหนุ่ม ๒ รูปเป็นลูกศิษย์คอยดูแลรับใช้ประจำ ภิกษุรูปหนึ่งขยันมีอุปการะดีแก่พระเถระ แต่อีกรูปหนึ่ง กลับเกียจคร้าน ว่ายากสอนยาก

คราวใดที่ภิกษุขยันตื่นแต่เช้าตรู่ ทำกิจวัตรปัดกวาดเช็ดถู เตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้แล้ว ภิกษุเกียจคร้าน จะฉวยโอกาส รีบไปหาพระเถระผู้เป็นอาจารย์ทันที แล้วกล่าวว่า "ท่านอาจารย์ครับ ผมได้ตระเตรียมน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว ขอท่านอาจารย์โปรดใช้ล้างหน้าด้วยเถิด"
ภิกษุเกียจคร้านทำเสมือนตนได้ปัดกวาดเตรียมน้ำไว้เอง กระทำเอาหน้ากับอาจารย์เช่นนี้เสมอๆ แม้ถูก เพื่อนภิกษุตักเตือน ก็ยังดื้อรั้นที่จะเกียจคร้านอยู่ดังเดิม เอาแต่ฉันอาหารแล้วก็ไปนอน ภิกษุขยัน จึงบังเกิด ความคิดขึ้นว่าจะต้องทำการเปิดเผยพฤติกรรมของพระหัวดื้อนี้ ให้ปรากฏแก่สายตาของอาจารย์

วันรุ่งขึ้น ภิกษุขยันตื่นมาแต่เช้ามืด ทำกิจวัตรทุกสิ่งแล้ว ก็ต้มน้ำสำหรับอาบ เตรียมไว้ให้อาจารย์ พอภิกษุ หัวดื้อ ตื่นนอนแล้ว เห็นน้ำต้มไว้เรียบร้อย จึงรีบไปหาอาจารย์ตามเคย
แต่พอมาถึงกลับไม่มีน้ำต้มไว้เลย ภิกษุหัวดื้อทั้งงุนงงทั้งตกใจ รีบไปยังโรงไฟ (โรงอบสมุนไพรรักษาโรค) เพื่อหาน้ำมาต้ม แต่พอหย่อน กระบวยตักน้ำ ลงไปในโอ่ง ก็ได้ยินแต่เสียงกระบวยกระทบโอ่ง ที่ว่างเปล่า

ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุหัวดื้อนั้น จึงถูกเรียกชื่อว่า อุฬุงกสัททกะ (เสียงกระบวยเปล่า)
ฝ่ายภิกษุขยันได้นำน้ำที่ต้ม ซึ่งเอาไปแอบซ่อนไว้ ออกมาให้อาจารย์ได้อาบ แล้วเล่าความจริงต่างๆ ให้ฟัง อาจารย์ จึงได้รู้ว่า ภิกษุอุฬุงกสัททกะ เป็นคนหัวดื้อ ว่ายากสอนยาก

เย็นวันนั้นเอง เมื่อภิกษุเกียจคร้านได้มาหาพระมหากัสสปเถระ จึงถูกอบรมสั่งสอน ภิกษุอุฬุงกสัททกะฟังคำสอนของอาจารย์แล้ว ก็ไม่ชอบใจ โกรธแค้นอาจารย์ พอถึงเช้าวันใหม่... จึงไม่ยอมไปบิณฑบาตกับอาจารย์หรือกับภิกษุรูปอื่นๆ แต่มุ่งไปยังตระกูลอุปัฏฐาก (ตระกูลที่ช่วย อุปถัมภ์อยู่) ของพระมหากัสสปเถระ แล้วกล่าวอ้างว่าอาจารย์ไม่ค่อยสบาย จึงขออาหารอันประณีตเพื่อจะนำไปให้อาจารย์ ภิกษุหัวดื้อจึงได้อาหารอันประณีตมากมาย แล้วถือเอาไปหาสถานที่เหมาะ นั่งขบฉัน อาหาร ตามชอบใจของตน จากนั้นจึงค่อยกลับคืนสู่วิหาร

เช้าวันถัดมา...พระมหากัสสปเถระได้ไปฉันอาหารที่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น พวกเขาพากันถามไถ่ พระเถระได้แต่นิ่งเฉย มิยอมตอบในเรื่องนั้น เมื่อฉันอาหารเสร็จ จึงกลับไปยังวิหาร เรียกหา ภิกษุ อุฬุงกสัททกะ ให้มาพบ เมื่อสอบถามชัดเจนแล้ว จึงกล่าวตักเตือนสั่งสอน

ยิ่งถูกตำหนิติเตียน แทนที่จะสำนึกผิด ภิกษุอุฬุงกสัททกะยิ่งแค้นอาฆาตกว่าเดิม บังเกิดความคิดชั่วร้าย ในรุ่งเช้าของวันใหม่ เมื่อพระมหากัสสปเถระกับภิกษุทั้งหลายออกไปบิณฑบาตแล้ว ภิกษุหัวดื้อ ก็ฉวยโอกาส ที่ปลอดคน จึงถือไม้ฆ้อนมาทุบภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ แตกทำลายสิ้น แล้วยังจุดไฟเผากุฎี ที่พัก ของอาจารย์ วอดวายหมด จากนั้นจึงหลบหนีไป

ด้วยผลแห่งการกระทำบาปกรรมนั้นเอง นับแต่นั้นมา ภิกษุอุฬุงกสัททกะ ก็มีชีวิตอยู่อย่างอัตคัดขาดแคลน ต้องอดอยาก ลำบากจนผอมโซ กายสกปรกเน่าเหม็น ราวกับเปรตเดินดิน ทรมานอยู่เช่นนั้น กระทั่ง ถึงแก่ความตาย แล้วยังต้องไปใช้หนี้กรรมในอเวจีมหานรกอีก เรื่องราวของภิกษุอุฬุงกสัททกะ จึงโจษจัน กันไปทั่วนครราชคฤห์

ครั้นพวกภิกษุจำนวนหนึ่งจากนครราชคฤห์ เดินทางไปเข้าเฝ้าพระศาสดายังนครสาวัตถี พระศาสดาทรงสดับเรื่องราวของภิกษุอุฬุงกสัททกะ อย่างนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
ภิกษุดื้อรั้นว่ายากสอนยากนี้ก็เป็นคนพาล โกรธเคืองคำสั่งสอนของอาจารย์ ทำลายที่พักของอาจารย์ มิใช่ ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยพาลโกรธเคืองทำลายที่พักอาศัยของผู้อื่นมาแล้ว เหล่าภิกษุได้ยินดังนั้น จึงทูลขอให้เล่าเรื่องราว พระศาสดาก็ทรงแสดงชาดกนั้น

ในอดีตกาล ณ ป่าหิมพานต์ มีนกขมิ้นหนุ่มตัวหนึ่ง อาศัยอยู่โดดเดี่ยวลำพัง ทำรังเป็นที่พักเอาไว้ อย่างประณีต มั่นคงแข็งแรง แม้แต่ฝนตกลงมาก็มิอาจรั่วรดได้

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ฝนกำลังตกหนักไม่ขาดเม็ด เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ปรากฏในที่ใกล้ๆ รังของ นกขมิ้นนั้น มีลิงตัวหนึ่งนั่งเปียกปอนอยู่ที่คาคบไม้ กัดฟันแน่นสู้กับความหนาวเย็น นกขมิ้นเห็นลิง ต้องลำบาก ทรมานอย่างนั้น จึงอดไม่ได้ที่จะถามไถ่ออกไปว่า
"วานรเอ๋ย หัวของเจ้า มือเท้าของเจ้าก็มีเหมือนพวกมนุษย์ ก็แล้วทำไมเล่า เจ้าจึงไม่มีที่อยู่อาศัย อย่างมนุษย์บ้าง"
ลิงเหลียวดูนกขมิ้นที่อยู่ในรังสุขสบาย มีที่กำบังฝนอย่างดีอบอุ่น แล้วก็ตอบไปว่า"เจ้านกขมิ้น แม้หัวของเรา มือเท้าของเราจะเหมือนพวกมนุษย์ก็จริง แต่ปัญญาที่พวกบัณฑิตบอกว่า เป็นสิ่งประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์นั้น เราไม่มี เราจึงสร้างบ้านไม่เป็น แต่ถึงกระนั้น เราก็มีนิสัย ชอบอยู่ของเรา อย่างนี้แหละ เจ้าจะทำไม"
นกขมิ้นฟังลิงแสดงนิสัยของตนเองแล้ว ด้วยความหวังดี จึงกล่าวเตือนสติออกไปว่า"นิสัยวานรนั้น มีใจไม่นิ่ง มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร มีปกติอยู่ได้ไม่ยั่งยืน ยิ่งไร้ที่พักอาศัย ย่อมมีสุขภาพไม่ดี เจ้าจงสร้างอานุภาพ ให้เกิดขึ้นแก่ตน เปลี่ยนปกตินิสัยไม่ดีของเดิมไปเสีย แล้วจงสร้าง ที่อยู่อาศัย เอาไว้ป้องกันลมฝน และความหนาวเถิด" ฟังแล้วรู้สึกว่าโดนสั่งสอน ลิงจึงโกรธไม่พอใจ บังเกิดความถือตัวว่า"เจ้านกขมิ้นตัวนี้ด่าว่าเรา ดูหมิ่นเหยียดหยามเรา เพราะมีรังอยู่สุขสบายฝนไม่รั่วรด ฉะนั้น เราจะจัดการ มันเสีย"

คิดแล้วก็กระโจนใส่รังนกขมิ้นทันที หมายจับตัวนกขมิ้นเอาไว้ แต่ก็ยังช้าไป เพราะนกขมิ้นเห็นท่าทาง ของลิงแล้ว ก็ไม่ไว้วางใจ บินหนีไปก่อนอย่างรวดเร็ว
ด้วยความโกรธแค้น ลิงจึงทุบตีทำลายรังนกขมิ้นจนพินาศสิ้น ระบายโทสะจนสมใจ แล้วคอยจากที่นั้นไป พร้อมกับ หนี้กรรมที่ได้สั่งสมไว้แล้ว. . . . . . . . . . . . . . . . .
ครั้นพระศาสดาทรงเล่าเรื่องจบแล้ว ได้ตรัสว่า"ลิงในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้เผากุฎีในบัดนี้ ส่วนนกขมิ้นในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตในบัดนี้" (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๘๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๕๒๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น